อาการ Panic
อาการแพนิค (Panic Disorder/Infomental)
อาการแพนิค ในทางการแพทย์ถือเป็น โรคชนิดหนึ่ง
ซึ่งมีคนเป็นกันมาก และเป็นกันมานานแล้ว(บนบก) แต่ประชาชนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก
และยังไม่มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการในภาษาไทย
แพทย์บางท่าน อาจเรียกโรคนี้ว่า "หัวใจอ่อน" หรือ "ประสาทลงหัวใจ"
ความจริงแล้วโรคนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโรคหัวใจเลย เพราะไม่ได้มีปัญหาอะไรที่หัวใจ
หากแต่เป็นสภาพทางจิตและ ไม่มีอันตราย ถ้าเกิดบนบก
แต่ จะส่งผลร้ายแรงอย่างยิ่งเมื่อเกิดอาการขึ้นในขณะดำน้ำ
เนื่องจาก จะทำให้นักดำน้ำ จมน้ำเสียชีวิต นั้นเอง
เพราะเมื่ออาการกำเริบจากความกลัว หรือเพราะผลจากความลึก ที่ทำให้เกิดแรงบีบกดร่างกาย
และผลจากการหายใจที่ความลึก อากาศมีความหนาแน่นมากจึงหนัก ยากแก่การหายใจ
ผู้ป่วย จะรู้สึกใจสั่นหัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน
มีความรู้สึกเหมือน Regulator ไม่จ่ายอากาศ
หายใจได้ไม่เต็มอิ่ม ขาสั่น มือสั่น มือเย็น บางคนจะมีอาการวิงเวียนหรือมึนศีรษะ
ท้องไส้ปั่นป่วน และหมดสติ ในขณะที่มีอาการผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัวมากจนไม่สนองตอบต่อคำสั่ง
โดยที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วย โรคแพนิค
จะกลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย กลัวว่าตัวเองกำลังจะหมดสติแล้ว
บางคนกลัวว่า ตนกำลังจะเสียการควบคุมตัวเอง อาการต่างๆ
มักเกิดขึ้นทันที และค่อย ๆ พัฒนาความหลอนรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ
จนเต็มที่ในเวลาประมาณ 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง
ในขณะนั้นถ้าเราพบเห็นนักดำน้ำที่มีอาการสั่นกลัว อาจให้ความช่วยเหลือได้โดยการ
พาขึ้นสู่ที่ตื้นอย่างช้าๆ จับมือผู้ป่วยไว้ให้แน่น เสมือนว่าเค้าปลอดภัยแล้วที่เจอเรา
การพาผู้ป่วยขึ้นสู่ที่ตื้นนั้น เป็นการปรับลดความกด และแรงดันของระบบลง ซึ่งจะช่วยได้มากๆ
นักดำน้ำจะรู้สึกหายใจได้ง่ายขึ้น สบายตัวขึ้น เพราะแรงกดดัน ลดลงนั้นเอง
ข้อควรระวังอย่างยิ่ง ในรายที่ดิ้นรนรุ่นแรงควรเข้าด้านหลัง
หรือคุณควรมีความรู้ในระดับ Rescue แล้วเท่านั้น
อาการมักจะหายหรือเกือบหาย ในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
ภายหลังจากอาการแพนิคผ่านพ้นไปแล้ว ผู้ป่วยมักจะอ่อนเพลียมาก
และแม้แต่ในช่วงที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยก็มักจะกังวลกลัวว่าจะเป็นอีก ซ้ำๆจนเสียสุขภาพจิต
อาการ โรคแพนิค จะเกิดที่ไหนเมื่อไรก็ได้ และคาดเดาได้ยาก
ผู้ป่วยมักพยายามสังเกตุ และเชื่อมโยงหาเหตุผล ที่กระตุ้นให้เกิดอาการกันไปต่างๆ
เผื่อที่ตนเองจะได้สร้างเงื่อนไขทางจิตในการหลีกเลี่ยง และรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้
เช่น ผู้ป่วยบางราย ไปเกิดอาการขณะขับรถขึ้นที่สูงก็จะไม่กล้าขับรถขึ้นที่สูงนั้นอีก
จึงสร้างเงื่อนไขว่า ตราบใดที่ไม่ขับรถขึ้นที่สูงก็จะไม่เป็นไร เป็นต้น
บางรายเกิดอาการขณะดำเรือจม ก็จะตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าไม่ดำเรือจมก็จะไม่เป็นไร
ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าดำน้ำคนเดียว หรือไม่กล้าอยู่คนเดียว บางคนไม่กล้าดำลงไปลึกๆ
เพราะกลัวว่าจะเกิดอาการขึ้นมาอีก แล้วจะไม่มีใครช่วยได้
ในบางรายอาจมีเหตุกระตุ้นจริงๆบางอย่างได้ เช่นการออกกำลังหนักๆ
หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน
เช่น กาแฟ ชา น้ำโคล่า ฉะนั้นในการดำน้ำควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆเหล่านี้
ขณะเกิดอาการ ผู้ป่วย โรคแพนิค มักกลัว จากนั้นจึงค่อยไปพบแพทย์ในภายหลัง
ซึ่งแพทย์ก็มักตรวจไม่พบความผิดปกติ
และมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียด หรือคิดมากไปเอง
ซึ่งผู้ป่วยก็มักยอมรับไม่ได้ และปฏิเสธว่าไม่ได้เครียด เมื่อเกิดอาการอีกในครั้งต่อมา
ผู้ป่วยก็จะไปโรงพยาบาลอื่นและมักได้คำตอบแบบเดียวกัน ผู้ป่วย โรคแพนิค หลาย ๆ ราย
ไปปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจซึ่งก็มักได้รับการตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด
แต่ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร ที่สามารถอธิบายอาการดังกล่าวได้
ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลมากขึ้นไปอีก
อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเรียกว่า อาการแพนิค (panic attack) ซึ่งแปลว่า "ตื่นตระหนก"
เพราะการที่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังเป็นอะไร จะยิ่งเพิ่มความตื่นตระหนกให้รุนแรงขึ้น
นักดำน้ำหลายท่าน เลิกดำน้ำไปเลย เพราะกลัว
อาการแพนิค ไม่มีอันตราย อาการนี้ทำให้เกิดความไม่สบายเท่านั้นแต่ ไม่มีอันตราย
สังเกตุได้จากการที่ผู้ป่วยมักจะ มีอาการมานาน บางคนเป็นมาหลายปี
เกิดอาการแพนิคมาเป็นร้อยครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรสักที
ในปัจจุบันเรา ทางการแพทย์เราพอจะทราบว่าผู้ป่วย โรคแพนิค
มีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการ “ตื่นตระหนก”
โดยเป็น ความผิดปกติของสารสื่อนำประสาทบางอย่าง
เราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา
ยาที่ใช้รักษา โรคแพนิค จะมี 2 กลุ่ม คือ
1. ยาป้องกัน (ในรายที่เป็นมาก) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้า
ปรับยาครั้งหนึ่งต้องรอ 2-3 สัปดาห์
จึงจะเริ่มเห็นผล คืออาการแพนิค จะห่างลง และเมื่อเป็นขึ้นมาอาการก็จะเบาลงด้วย
เมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพนิคเกิดขึ้นอีกเลย
ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าบางตัว เช่น เล็กซาโปร (lexapro)
โปรแซก (prozac) โซลอฟ (zoloft) ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยา
และสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย ในการรักษาด้วยยาเราจะจ่ายทั้ง ยาป้องกัน และยาแก้
เพราะในช่วงแรก ๆ ยาป้องกันยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจะยังมีอาการ
จึงยังต้องใช้ยาแก้อยู่ เมื่อยาป้องกันเริ่มออกฤทธิ์ผู้ป่วยจะกินยาแก้น้อยลงเอง
แพทย์จะค่อยๆเพิ่มยาป้องกันจนผู้ป่วย "หายสนิท" คือไม่มีอาการเลย
แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อไปเป็นเวลา 8-12 เดือน
หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยค่อยๆ หยุดยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้
โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อลดยาลง
ในกรณีแบบนี้เราจะเพิ่มยากลับขึ้นไปใหม่แล้วค่อย ๆ ลดยาลงช้า ๆ
2. ยาแก้ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เฉพาะเมื่อเกิดอาการขึ้นมา เป็นทีกินที กินแล้วหายเร็ว
ได้แก่ยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของยา “กล่อมประสาท” หรือยา “คลายกังวล”
เช่น แวเลี่ยม (valium) แซแนก (xanax) และอะติแวน (ativan)
ซึ่งยาประเภทนี้มีความปลอดภัยสูง(แปลว่าไม่มีพิษ ไม่ทำลายตับ ไม่ทำลายไต)
แต่ถ้ารับประทาน ติดต่อกันนานๆ (2-3 สัปดาห์ขึ้นไป) จะเกิดการติดยาและเลิกยาก
และเมื่อหยุดยากระทันหันจะเกิดอาการขาดยา ซึ่งจะมีอาการเหมือนอาการแพนิค
ทำให้แยกแยะไม่ได้ว่าหายหรือยัง ดังนั้นแพทย์จะเน้นกับผู้ป่วยว่าให้กินเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น
ยังไม่เป็นห้ามกิน รอให้เริ่มมีอาการแล้วค่อยกินก็ทันเพราะมันออกฤทธิ์เร็ว
การป้องกันในระยะยาว ง่ายถึงง่ายที่สุด คือการออกกำลังกาย จนสุขภาพร่างกายแข็งแรง
งดเหล้า บุหรี่ และสารกระตุ้นต่างๆ
เริ่มต้นดำน้ำอีกครั้ง ในน้ำที่ใสสะอาด และไม่ลึกมากนัก
เพื่อเป็นการค่อยๆสร้างความเชื่อมั่น ให้กับตนเองกลับมาอีกครั้ง
ท้ายนี้หวังว่า บทความเรื่องนี้ คงตอบโจทย์
และ คลายปมปัญหาของใครหลายคน ที่เป็นนักดำน้ำ ทั้งมือใหม่มือเก่า
อาการ Panic นี้ ถูกพูดถึงกันมามาก โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผมแล้ว
โรค Panic นี้สามารถเกิดได้กับ นักดำน้ำทุกวัย
ทั้งมือเก่า และมือใหม่ ถ้าคุณเป็นคนป่วย และอยากหายป่วยลองทำใจให้สบาย
ทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และอาการของมัน พยายามกลับไปทำซ้ำในสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้
อย่างเป็นระบบมีการเตรียมการ และการวางแผนที่ดี
การดำน้ำกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ๆช่วยคุณได้ ลองเล่าความจริงให้เพื่อนฟังอย่าอาย
และลองให้เพื่อนจูงมือคุณแน่นๆขณะดำน้ำ จะสามารถช่วยคุณได้มากๆ